ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาที่ประชาคมโลกรับผลกระทบทางลบร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำมาสู่ผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งการเพาะปลูกและปศุสัตว์ของไทยและของโลก รวมถึงการบันทอนคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่จะประสบระดับความรุนแรงจะมีมากขึ้นและระดับความถี่จะสูงขึ้น

วรรณสินท์ สัตยานุวัตร์
สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

  1. ปฐมบทความสำคัญ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาที่ประชาคมโลกรับผลกระทบทางลบร่วมกัน ตั้งแต่ที่ผลทางตรงกับประเทศไทย ได้แก่ปัญหาแล้ง พายุฝน คลื่นความร้อน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และที่ส่งผลทางอ้อมกับไทยอันได้แก่ การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก และน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำมาสู่ผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งการเพาะปลูกและปศุสัตว์ของไทยและของโลก รวมถึงการบันทอนคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่จะประสบระดับความรุนแรงจะมีมากขึ้นและระดับความถี่จะสูงขึ้น

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas, GHG) เป็นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) แสดงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกที่แสดงเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปีค.ศ.2050 ไทยกำหนดเป้าหมาย Carbon Neutral ในปีค.ศ. 2050 และกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2065

การบริหารราชการแผ่นดินไปสู่เป้าหมายการจัดการต่อ GHG ดังกล่าวดำเนินการได้สี่หมวด ได้แก่

  1. การวัดและประเมินการ GHG
  2. การลดการปล่อย GHG
  3. การสร้าง Carbon Credit
  4. การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS)

เครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญของการดำเนินการให้ทั้งสี่หมวดข้างต้นปรากฎผลเชิงประจักษ์จะต้องทำให้กลไกตลาดทำงานจนเกิดการกำหนดราคาคาร์บอนทางตรง (Direct Carbon Pricing) ที่สะท้อนค่าเสียโอกาสจากของสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิด GHG ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีแนวทางก่อให้เกิดราคาคาร์บอนได้สามเครื่องมือ เครื่องมือแรก คือ ภาษีคาร์บอน (Carbon tax) เครื่องมือที่สองคือ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme, ETS) ซึ่งจะต้องดำเนินควบคุมกับการกำหนด ระบบจำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-and-Trade) จุดแข็งของแนวทางแรก คือ ประเทศได้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษี และจุดแข็งของแนวทางที่สอง คือ ราคาคาร์บอนจะสะท้อนค่าเสียโอกาสของการผลิตสินค้าและบริการได้มากกว่า และเครื่องมือที่สาม คือ คาร์บอนเครดิต (Carbon credit)

การบริหารราชการแผ่นดินของไทยจนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ความล่าช้าของการกำหนดราคาคาร์บอนจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะกลางและระยะยางของประเทศเป็นอย่างมาก อันได้แก่ ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้ของรัฐ ส่งผลต่อการส่งออกในอนาคตที่สินค้าส่งออกจากไทยจะมีต้นทุนข้ามพรมแดนจากค่าธรรมเนียมคาร์บอน (Cross Broder Carbon) ส่งผลต่อการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ส่งผลต่อการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรหรือเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Neutral) และส่งผลต่อศักยภาพการเติบทางเศรษฐกิจและการติดกักดักรายได้ปานกลางที่พลวัตรในอนาคตจะทำให้ไทยยิ่งเผชิญกับความยากในการยกระดับรายได้ของประเทศ

  1. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กับการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดบริหารจัดการต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในพันธกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังไม่แสดงสัญญาณที่ชัดเจนใด ๆ ว่าประเทศไทยจะใช้เครื่องมือการกำหนดราคาคาร์บอนทางตรง

โครงสร้างงบประมาณที่จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตีความได้ว่าการบริหารจัดการต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ๆ (ประเด็นนี้เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลเพิ่งเข้าสู่การบริหารราชการแผ่นดิน) พันธกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามการดำเนินการไปสู่การกำหนดราคาคาร์บอนทางตรงจำเป็นต้องตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะใช้เครื่องมือใด Carbon Tax หรือ ETS หรือจะใช้ทั้งสองเครื่องมือควบคู่กัน ซึ่งเป็นพันธกิจที่เกินกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่เพียงกระทรวงเดียว กล่าวคือ พันธกิจการออกแบบ Carbon Tax เป็นของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้กระบวนการลดการปล่อย GHG ประกอบด้วยพันธกิจการลด GHG ในกระบวนการผลิตเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม พันธกิจการผลิตไฟฟ้าเป็นของกระทรวงพลังงาน พันธกิจการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่งเป็นของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

การดำเนินการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม1 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเชิงนโยบายอื่น ๆ เพื่อส่งผลต่อการตัดสินใจของกลไกตลาด การดำเนินการในปัจจุบันจะต้องเร่งตัดสินใจรูปแบบที่จะส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับตัวด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายด้วยการออกพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะต้องกำหนดเครื่องมือกลไกที่นำไปสู่การกำหนดราคาคาร์บอนโดยตรง

โครงสร้างการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่แสดงตามเอกสาร “การชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในคณะกรรมธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” พบว่า งบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกลดลงจากคำขอคิดเป็นร้อยละ 50.62 ตัวอย่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น

  • กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ถูกลดลงร้อยละ 65 เหลือเพียง 540.40 ล้านบาท
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ถูกลดลงร้อยละ 53.87 เหลือเพียง 149.96 ล้านบาท
  1. ประเด็นพิจารณาและเสนอแนะ

(1) การเร่งให้เกิดราคาคาร์บอนของไทยจะเป็นเครื่องมือหลักที่ส่งสัญญาณต่อกลไกตลาดและห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain)

(2) สภาพปัญหา ความสำคัญ ความเร่งด่วนและความซับซ้อนของการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะจำเป็นต้องพิจารณายกระดับเป็น “แผนงานบูรณาการ” (ปัจจุบันในหมวด 4 ของร่าง พ.ร.บ. กำหนดไว้ 10 แผนงาน) เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินไปสู่เป้าหมายที่ได้นำเสนอข้างต้นทั้งสี่หมวด อันได้แก่ การวัดและประเมินการ GHG การลดการปล่อย GHG การสร้าง Carbon Credit และ การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงต่อการแก้ปัญหา GHG และยกระดับความสามารถในการแข่งขันการผลิตสินค้าและบริการต่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) รวมถึงยกระดับความอยู่ดีกินดีและระดับรายได้ของประเทศต่อไป


  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 โดยเป็นรวมภารกิจระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บุคลากร 34 คน งบประมาณปี 2565 จำนวน 26 ล้านบาท) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (บุคลากร 511 คน งบประมาณปี 2565 จำนวน 434 ล้านบาท) เข้าด้วยกัน ↩︎