ประวัติความเป็นมา

การเริ่มต้นของ

สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)

ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลได้ใช้มาตรการเร่งด่วนหลายมาตรการในการเยียวยาความตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม โครงการช่วยเหลือทางด้านเทคนิครูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจขึ้นในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยมีการสนับสนุนเงินทุนในการจัดหาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นการจัดตั้งสถาบันวิจัยฯ อย่างไม่เป็นทางการ โดยมูลนิธิ สวค. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในรูปแบบของมูลนิธิที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2544

ในระยะแรกมูลนิธิ สวค. ได้ใช้สถานที่ชั้น 3 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเป็นที่ตั้งในการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์วิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและดำเนินงานร่วมกันกับองค์กรต่างประเทศในการศึกษาวิจัย ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

โครงสร้างการบริหารงาน

การบริหารงานของมูลนิธิ สวค. เป็นรูปแบบคณะกรรมการบริหารมูลนิธิประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้วยความอนุเคราะห์จากกระทรวงการคลัง ทำให้การดำเนินงานของ สวค. เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับในบรรดาสถาบันทางวิชาการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง สวค. ยังได้ดำเนินงานศึกษาวิจัยให้กับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

ผลงานศึกษาวิจัยของ สวค. ในปัจจุบันมีมากกว่า 400 โครงการ

โดยนับจากปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สวค. ได้รับดำเนินโครงการวิจัยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลงานศึกษาวิจัยของ สวค. ในปัจจุบันมีมากกว่า 400 โครงการ และได้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ไปสู่งานด้านสังคม และการจัดฝึกอบรม 

การเติบโตของ สวค.
ควบคู่มากับผลงานซึ่งถูกนำไปใช้ในการ
ดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สวค. ได้ขยายขอบเขตการทำงานและปรับโครงสร้างให้สอดรับกับขอบเขตการทำงานที่ขยายเพิ่มขึ้น

สวค. เติบโตควบคู่มากับผลงานที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถูกนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานในด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาของ สวค. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ได้เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนานักวิจัยและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยนโยบายสาธารณะให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในประเด็นต่างๆ และสนับสนุนความเชื่อมั่นที่มีต่อศักยภาพการวิจัยขององค์กร โดยมูลนิธิ สวค. ได้ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาหมายเลข 1047 ระดับ 1 กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ในสาขาการเงิน สาขาอุตสาหกรรม สาขาการบริหารและการพัฒนาองค์กร รวมทั้งสาขาการวิจัยและการประเมินผล และได้รับการต่อทะเบียนที่ปรึกษาตามผลงานที่ได้มีการขยายขอบเขตงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี 

โครงสร้างสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

สวค. แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ศูนย์วิจัย ศูนย์พัฒนาการศึกษาและสื่อสาร และศูนย์บริหารกลาง รวม 5 ศูนย์

ศูนย์วิจัย ประกอบด้วย

ศูนย์นโยบายการคลัง สังคมและสาธารณสุข

    • ศูนย์เศรษฐกิจการคลังและสังคม
    • ศูนย์เศรษฐกิจและการสาธารณสุข

ศูนย์นโยบายการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

    • ศูนย์เศรษฐกิจและการวิเคราะห์ข้อมูล
    • ศูนย์เศรษฐกิจการเงิน

ศูนย์นโยบายการค้าและการลงทุน

    • ศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ
    • ศูนย์เศรษฐกิจการค้าและการติดตามประเมินผล

โดยดำเนินงานศึกษาวิจัยเชิงนโยบายในหลายด้าน เช่น

  • ด้านการคลัง 
  • ด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ การค้า และการลงทุน  
  • ด้านการวางแผนการลงทุน และการพัฒนาที่ดิน
  • ด้านการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจ การเงิน การประกันภัย และการจ้างงาน
  • ด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 
  • ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม
  • ด้านการประเมินความเสี่ยง และการประเมินผลโครงการ 
  • ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ศูนย์พัฒนาการศึกษาและสื่อสาร

ออกแบบและจัดหลักสูตรอบรมทั้งในรูปแบบหลักสูตรสาธารณะ และหลักสูตร in-house เพื่อพัฒนาบุคลากรให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวมทั้งจัดงานสัมมนาวิชาการในรูปแบบ online และ on-site ด้วยทีมงานมากประสบการณ์

ศูนย์บริหารกลาง

ศูนย์บริหารกลาง เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงานของงานวิจัยและงานอบรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  และประสานการทำงานร่วมกัน สามารถสนับสนุนทุกส่วนงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ