ภาษีไป (SDGs) ไหน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UDNP) ประเทศไทย ได้สนับสนุนให้มีการนำ SDGs ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และนโยบายพัฒนาประเทศไทย และพยายามเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการให้การสนับสนุนทางเงินเพื่อการบรรลุ SDGs ภายใต้กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Integrated National Financing Framework (INFF)

ดร. อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวค.
ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืนและแหล่งเงินทุนที่สำคัญ
วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ The 2030 Agenda for Sustainable Development เป็นวาระที่รัฐสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) เห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 และตั้งเป้าจะบรรลุผลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนามุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้รับประโยชน์และสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในสภาพดีสำหรับคนรุ่นหลัง สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ฐานะการคลังของไทยที่พิจารณาจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศหรือ GDP ยังคงอยู่ในระดับเกือบสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ระดับร้อยละ 61.69 ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ส่งผลให้ไทยมีงบประมาณที่จำกัดมากขึ้นเพื่อบรรลุ SDGs โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UDNP) ประเทศไทย ได้สนับสนุนให้มีการนำ SDGs ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และนโยบายพัฒนาประเทศไทย และพยายามเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการให้การสนับสนุนทางเงินเพื่อการบรรลุ SDGs ภายใต้กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Integrated National Financing Framework (INFF) อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและติดตามว่ามีการจัดสรรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ไทยสามารถบรรลุ SDGs ได้

การวัดประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย
ในปัจจุบัน ไทยใช้ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Performance Based Budgeting System: SPBBS) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณให้บรรลุตามเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศและให้เกิดประโยชน์สูงสุด1 กระบวนการงบประมาณของไทยจะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรทั้งจากความคืบหน้าของการใช้จ่ายงบประมาณ และผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดของหน่วยงานภาครัฐ สำนักงบประมาณจะมีข้อมูลของการจัดสรรงบประมาณถึงระดับกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน และต้องอาศัยข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณจากกรมบัญชีกลางและรายงานจากหน่วยงานภาครัฐ ความท้าทายของการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณในปัจจุบันคือ ระบบสารสนเทศของสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรงและมีการกำหนดรหัสและประเภทของรายการจ่ายที่แตกต่างกันทำให้การติดตามการความคืบหน้าใช้จ่ายงบประมาณในระดับโครงการทำได้ยาก นอกจากนี้การรายงานของหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณและผลการดำเนินงานยังไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ และได้แสดงมีการแสดงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์หลักอย่างชัดเจน และไม่ได้เป็นนโยบายเร่งด่วนทำให้มิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังไม่ได้เป็นเป็นมิติหลักที่ใช้วิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณในปัจจุบัน

ภาษีไปถึง SDGs หรือไม่
งบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การติดตามการจัดสรรงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการเกี่ยวกับ SDGs จะทำให้ทราบได้ว่าแต่ละ SDGs ได้รับงบประมาณและมีการใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ การติดตามงบประมาณสำหรับ SDGs (SDGs Budget Tagging) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างแพร่หลาย เม็กซิโกเป็นตัวอย่างที่ได้มีการกล่าวถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการติดตามงบประมาณสำหรับ SDGs เม็กซิโกมีระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลการดำเนินงานซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาสและรายปี ในปี ค.ศ. 2018 ได้มีการนำเอา SDGs เช้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศและการจัดทำงบประมาณของเม็กซิโก ในปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้พยายามที่จะเริ่มติดตามงบประมาณสำหรับ SDGs เช่น โคลัมเบีย โรมาเนีย ฟิลิปปินส์ ประเทศไทยมีระบบงบประมาณที่คล้ายกับเม็กซิโก แต่ยังไม่ได้มีการติดตาม การจัดสรรงบประมาณ SDGs ที่ชัดเจนเนื่องจากยังไม่ข้อกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่ของบประมาณต้องระบุว่าแผนงานและโครงการที่เสนอของบประมาณเกี่ยวข้อง SDG ไหน เมื่อไม่สามารถระบุการจัดสรรงบประมาณตาม SDGs ได้ก็ไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายงบประมาณตาม SDG ได้ อย่างไรก็ตาม ไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมาย SDGs มากขึ้น และสำนักงบประมาณกำลังพัฒนาระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถช่วยให้ไทยสามารถติดตามงบประมาณตาม SDGs ได้ว่าเงินงบประมาณถูกจัดสรรและใช้จ่ายตาม SDGs ไหนในอนาคตอันใกล้

ภาษีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ
การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นทิศทางการการพัฒนาของประเทศไทยในระยะยาวซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตของไทยมีคุณภาพและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การมีข้อมูลสำหรับติดตามการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ SDGs เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้งบประมาณ SDGs ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะที่ไทยกำลังมีข้อจำกัดทางการคลัง ไทยยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อหาแหล่งเงินทุนเพิ่มมากขึ้นจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ต้องเริ่มทำก่อน คือ การกำหนดให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐอย่างเต็มที่


  1. การจัดสรรงบประมาณจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของชาติ ประมาณการรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ วินัยทางการคลัง ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ของโลกและไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ↩︎