ทำไม ยุคนี้ต้อง “สีเขียว”

ปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเหมือนกันในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นปัญหาที่อุณภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 คุณ António Guterres เลขาธิการสหประชาขาติ ได้กล่าวเตือนว่า ยุคของ Global Warming ได้สิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังจะเข้าสู่ยุคของ Global Boiling…

นางสาวสมฤทัย แสงทอง
นักวิจัย
สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเหมือนกันในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นปัญหาที่อุณภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) ได้มีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2570 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยต่อปีจะสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 1.1 – 1.8 องศาเซลเซียส1 และมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 66 ที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ. 2570 ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 คุณ António Guterres เลขาธิการสหประชาขาติ ได้กล่าวเตือนว่า ยุคของ Global Warming ได้สิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังจะเข้าสู่ยุคของ Global Boiling จากข้อมูลของอูณหภูมิที่สูงที่สุด 3 วันในเดือนกรกฎาคม 2566 และอูณหภูมิในพื้นผิวมหาสมุทรก็สูงขึ้นเป็นประวัติกรณ์ตั้งแต่มีการจัดบันทึกข้อมูล อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินแล้วว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่เราไม่ควรนิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว เพราะหากอุณภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาลและจะไม่สามารถกลับมาฟื้นฟูความเสียเหล่านั้นได้อีก เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 10 – 30 นิ้ว เกิดภัยแล้งรุนแรง เกิดพายุรุนแรงและถี่กว่าเดิม และแนวปะการังจะลดลงร้อยละ 70 – 90 ถ้าหากเรายังไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส

จากปัญหาดังกล่าวทำให้มนุษย์ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยในบทความนี้ผู้เขียนจะขอเริ่มเล่าถึงภาพรวมของความเกี่ยวข้องระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ยั่งยืน จึงนำมาสู่แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)2 ซึ่งแต่ละหน่วยงาน เช่น The United Nations Environment Programme (UNEP) Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) The Global Citizens Center และ United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ได้ให้นิยามของเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันคือระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้

ในปัจจุบัน ธุรกิจหลายภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับกระแสความยั่งยืนมากขึ้น โดยได้ผนวกกิจกรรมดั้งเดิมของภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น ในภาคการเงิน ได้เกิดคำว่า การเงินสีเขียว (Green Finance) ขึ้น โดย UNEP ได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและบริหารเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ ซึ่งสถาบันการเงินได้มีการออกผลิตภัณฑ์ Green Finance ที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) จากรายงานของธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย พบว่าตลาด Green Finance มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainable Bond) เติบโตเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดเงินกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Loan) มีมูลค่าเกิน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Development) มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิต การติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดทำระบบหมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ภายในอาคารหรือโรงงานมากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้นำมาสู่คำว่า อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) กระทรวงอุตสาหกรรมไทยได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับยึดมั่นในการประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น บริษัท Saint Gobain เป็นบริษัทผลิตกระจก และวัสดุก่อสร้าง ในฝรั่งเศส ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573 และปัจจุบันบริษัทกำลังดำเนินการปรับปรุงผังกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน

กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ Start-up ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะได้รับผลกระทบหากเป็นผู้ประกอบการอยู่ในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นต้องการลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับกระแส Green Economy โดยสรรหาวัตถุดิบอื่นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนพลาสติก เช่น อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี กลุ่ม Green-Start-up กำลังเติบโตและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นยูนิคอร์น เช่น บริษัท Traceless Materials เป็นธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติก แต่ใช้เศษพืชจากอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่เหลือจากการผลิตเบียร์และแป้งมัน มาทำการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยบรรจุภัณฑ์ของบริษัทจะย่อยสลายกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผลิตเม็ดพอลิเมอร์ที่ไม่ได้ทำมาจากพลาสติกขึ้นมาซึ่งสามารถนำไปใช้งานผลิตบรรจุภัณฑ์ในสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ตามมาตรฐานปกติ

จากมุมมองของผู้เขียนมีความเห็นว่า มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตภาวะโลกร้อนโดยเริ่มตั้งแต่การปฏิวัติอุสาหกรรม การทำลายบุกรุกพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมการเบียดเบียนธรรมชาติ การทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การคมนาคมขนส่ง การเกษตร การปศุสัตว์ ล้วนเป็นการทำลายชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องและสะสมมานานกว่าร้อยปีจนมาถึงปัจจุบัน และโลกที่กำลังจะแบกรับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ไหว จึงได้ส่งสัญญาณเตือนแก่มนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิสูงขึ้นหรือน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะมนุษย์สามารถรับรู้ได้ถึงสัญญาณดังกล่าวและรีบหาแนวทางในการปรับตัวเพื่อช่วยรักษาสมดุลให้แก่โลกใบนี้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การหันมาใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่าย การควบคุมการปล่อยก๊าซพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม การลงทุนในตลาดทุนเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความยั่งยืนและป้องกันการส่งต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์และอากาศที่เป็นพิษให้แก่คนรุ่นหลัง

ในโอกาสหน้าเราจะมาพบกับเรื่องราวของอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ว่ามีความสำคัญ และมีบทบาทต่อความยั่งยืนอย่างไร


อ้างอิง
https://public.wmo.int/en/media/press-release/global-temperatures-set-reach-new-records-next-five-years
https://yaleclimateconnections.org/2021/08/1-5-or-2-degrees-celsius-of-additional-global-warming-does-it-make-a-difference/?fbclid=IwAR2ybXSFbSwArKiRB159mJtr9aX6gvhvN3F4jV1Wh64cwP3ABvDAiCycITY
https://www.npr.org/2021/11/08/1052198840/1-5-degrees-warming-climate-change
https://www.unep.org/regions/asia-and-pacific/regional-initiatives/supporting-resource-efficiency/green-economy
https://www.greeneconomycoalition.org/news-and-resources/the-5-principles-of-green-economy
https://ec.europa.eu/enrd/sites/default/files/publi-enrd-rr-23-2017-en.pdf
https://progreenecon.files.wordpress.com/2019/10/pro-green-booklet-e0b980e0b8aae0b989e0b899e0b897e0b8b2e0b887e0b980e0b8a8e0b8a3e0b8a9e0b890e0b881e0
b8b4e0b888e0b8aae0b8b5e0b980e0b882e0b8b5e0b8a2e0b8a7.pdf
https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/044-อุตสาหกรรม-โรงงาน-ลดคาร์บอนไดออกไซด์-Buhler
https://greenindustry.diw.go.th/webgi/wp-content/uploads/2022/06/GI_Manual_Thai.pdf
https://www.nia.or.th/Green-Finance
https://www.ditp.go.th/post/128801
https://www.kasikornresearch.com/SiteCollectionDocuments/analysis/k-social-media/sme/GreenBusiness/GreenBusiness.pdf
https://www.bbc.com/thai/international-65045061
https://www.bbc.com/thai/international-63571202
https://thaipublica.org/2020/12/wmo-2020-record-hottest-year-as-decade-end/


  1. ปัจจุบันโลกมีสถิติอุณหภูมิที่สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส โดยใช้อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2390 – 2443 (ค.ศ.1850 – 1900) มาเป็นเกณฑ์ในการวัด เนื่องจากในยุคนั้นอุตสาหกรรมยังไม่ได้พึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) มากนัก ↩︎
  2. ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ในรูปของรายงานต่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมรายงานดังกล่าวชื่อพิมพ์เขียวเศรษฐกิจสีเขียว (Blueprint for a Green Economy) ↩︎