นายธนาพัชร อัครพัฒนเมธ
นักวิจัยโครงการ
สวค.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้รายงานว่า มูลค่าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment: FDI) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2566 สูงถึง 304,041 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2565 ที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพียง 126,187 ล้านบาท ถ้าหากพวกเราได้มีการติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจเป็นประจำ ก็จะต้องได้ยินเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรษฐกิจตัวนี้ รัฐบาลไทยมีการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ การให้สิทธิในการถือครองที่ดินระยะยาวเพื่อการลงทุน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคโดยเน้นส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เช่น พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คือธุรกรรมการลงทุนที่ผู้ลงทุนมีถิ่นฐานจากต่างประเทศ โดยจะครอบคลุม (1) เงินลงทุนในหุ้นที่มีสิทธิ์ร่วมในการบริหารกิจการ ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป (2) การกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ (3) กำไรที่นำกลับมาลงทุน และ (4) ตราสารหนี้และสินเชื่อการค้าที่เป็นธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Inflow) และ (2) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outflow)
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสร้างประโยชน์มากมายให้กับเศรษฐกิจของไทยและเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีระหว่างบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทต่างชาตินี้ ในขณะที่การออกไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยเป็นการขยายตลาดในต่างประเทศและอาศัยข้อได้เปรียบในการผลิตต่างประเทศ (เช่น ค่าแรงที่ถูกกว่า สิทธิประโยชน์ในการลงทุน สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีของประเทศนั้น) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย
ในภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโลกนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2565 การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศส่วนใหญ่จะพบในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Economy) โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 69.20 ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้งหมด เป้าหมายของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วคือ การมุ่งเน้นในการลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Developing Economy) เป็นหลัก โดยใน 5 ปีล่าสุด ( พ.ศ. 2561-2565) ทวีปที่มีการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มากที่สุดของโลกในเวลาเดียวกัน คือ ทวีปเอเชีย โดยในปี ค.ศ. 2022 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 42.51 และ 57.16 ของการลงทุนในต่างประเทศรวมและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมของโลกตามลำดับ
ข้อมูล ปี พ.ศ. 2565 จาก การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) 5 ประเทศแรกที่มีการลงทุนมากในต่างประเทศมากที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย โดยสหรัฐอเมริกานั้นมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสูงมากถึง 372,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วนถึงร้อย 25.04 ของทั้งโลก โดยจะเน้นไปลงทุนในทวีปยุโรป เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร และ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้นโดยจะเน้นการเข้าไปลงทุนในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Companies) เป็นหลัก
โดยทั่วไป ปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติใช้ในการพิจารณาการลงทุนมีหลายปัจจัยเช่น ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่พอและคุ้มค่าที่จะลงทุน อุปสงค์การบริโภคที่ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ปริมาณแรงงานที่มีคุณภาพเพียงพอที่ในการประกอบกิจการ โครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกในการประกอบกิจการ อัตราภาษีที่จูงใจให้มาลงทุน การเปิดเสรีทางการค้าที่มากพอและไม่กีดกันจนมากเกินไปที่จะมาลงทุน ประเทศไทยยังคงมีต้นทุนโดยรวมที่ถูกกว่าและนโยบายการค้าต่าง ๆ เช่น ความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ
สถานการณ์การลงทุนโดยตรงของไทยนั้นมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจในบางช่วงในปี พ.ศ. 2565 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 จากปี พ.ศ. 2564 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และมาเลเซียตามลำดับ โดยมีการเข้ามาลงทุนรวมทั้งหมดสูงถึง 2,333,371.39 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีการเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมการผลิต การเงินและประกันภัย การขายส่งและการขายปลีกและการซ่อมยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศตามลำดับ
ในขณะที่ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยมีเป้าหมายการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อหาตลาดใหม่ ๆ ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศที่ไทยเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.18 จากปี 2564 โดย 5 ประเทศแรกที่ไทยได้เข้าไปลงทุน คือ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ สวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการออกไปลงทุน 1,984,305.22 ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมการผลิต การเงินและประกันภัย การขายส่งและการขายค้า การซ่อมยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และการเหมืองแร่และเหมืองหิน
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้า ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในอุตสาหกรรมซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เกิดการจ้างงาน และพัฒนาฐานสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ในมุมมองของผู้เขียนบทความ หากประเทศไทยต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ควรจะต้องพัฒนาใน 3 ด้านนี้ได้แก่
- ด้านเศรษฐกิจ มีการใช้นโยบายช่วยเสริมให้อุปสงค์สูงขึ้น และสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมากขึ้นโดยการไปลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศในบางรายการ เช่น ด้านอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปรับปรุงกฎหมายในบางข้อเพื่อเพิ่มความสะดวกในพิธีศุลกากรสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้า ลดความซ้ำซ้อนในการนำส่งข้อมูลและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันในหน่วยงานของภาครัฐ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และพลังงาน
- ด้านแรงงาน อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการแรงงานสำหรับกิจการของตนได้อย่างเหมาะสม เช่น การนำเข้าแรงงานมีความรู้และทักษะ (Key Employee) เข้ามาบริหารกิจการในประเทศ
ในขณะเดียวกันควรจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตของตนเอง และใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และการเปิดตลาดใหม่ในประเทศเป้าหมาย ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคในบางอุตสาหกรรมได้