นโยบายการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการทำงาน
ของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ปรับปรุงล่าสุด : 31 พฤษภาคม 2565
นโยบายนี้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับพนักงานทุกระดับ และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร
นโยบายนี้ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง แต่เป็นการกำหนดแนวทางการทำงานที่พนักงานต้องปฏิบัติ การไม่ดำเนินการตามนโยบายนี้จะมีผลทางวินัยพนักงาน
สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึง Facebook, LinkedIn, Twitter, LINE, Wikipedia และเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นลักษณะเดียวกัน ทั้งที่เป็นบล็อกหรือเว็บไซต์ที่เปิดให้โพสต์ ข้อความ, รูปภาพ, วีดิโอ หรือเนื้อหาอื่นใดได้
นโยบายนี้จะได้รับการทบทวนและปรับปรุงอยู่ตลอด ซึ่งจะได้แจ้งให้พนักงานทุกคนทราบทุกครั้ง
อ่านต่อ ↓
1. ห้ามมิให้พนักงานใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ขัดต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องการทำงานขององค์กรทุกกรณี การโพสต์ข้อความหนึ่ง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์อาจมีผลเป็นการขัดต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้นในทางออนไลน์ได้ แม้นโยบายนั้นจะระบุถึงแนวทางการทำงานในทางกายภาพเท่านั้นโดยไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนั้นทางออนไลน์ก็ตาม เช่น
ละเมิดนโยบายด้านเทคโนโยลีสารสนเทศ
ละเมิดนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ละเมิดหน้าที่ขององค์กรภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
ละเมิดหน้าที่รักษาความลับขององค์กร
ละเมิดวินัยการทำงานขององค์กร
หมิ่นประมาทหรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
ทำให้บุคคลอื่นต้องได้รับความอับอายหรือถูกกลั่นแกล้งหรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
ละเมิดกฎหมายหรือจริยธรรมอื่นใด
2. ห้ามไม่ให้พนักงานทุกคนอ้างอิงถึงองค์กรไม่ว่าในทางใดบนสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจก่อให้เกิดภาระความรับผิดตามกฎหมายแก่องค์กรและตัวพนักงานเอง
3. กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการทำงาน ให้ดำเนินการตามแนวทางต่อไปนี้
การสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด ๆ จะต้องเชื่อมโยงและสนับสนุนมายังบัญชีหลักขององค์กรและแบรนด์ขององค์กร ซึ่งควรต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร และบันทึกบัญชีสนับสนุนการทำงานดังกล่าวเอาไว้ตามนโยบายนี้
การสื่อสารใด ๆ จะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่เป็นหนึ่งเดียวและมีความโดดเด่น โดยไม่ซ้ำซ้อนกับบัญชีหลักขององค์กร ซึ่งสามารถสนับสนุนและแชร์ต่อโพสต์กันไปมาได้ เป็นไปโดยสุภาพและสมควรตามกาลเทศะ และพึงระลึกว่าเราอาจได้รับความเห็นที่ก้าวร้าวและรุนแรงได้ จึงต้องระมัดระวังไม่โต้แย้งหรือโต้เถียงกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม ซื่อตรงต่อสิ่งที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ ไม่สื่อสารออกนอกขอบเขตจนทำให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กร
ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ความลับ หรือข้อมูลที่ไม่พึงเปิดเผยให้แก่สื่อสังคมออนไลน์รับรู้ แม้ไม่ใช่โพสต์สาธารณะก็ตาม
ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การส่งข้อมูลชื่อนามสกุลหรือที่อยู่ติดต่อลูกค้า เป็นต้น ให้ส่งในช่องทางที่เป็นส่วนตัวและมีมาตรการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว และไม่ใช้วิธีทำสำเนาภาพหน้าจอแสดงผล (Screen capture) โดยจะต้องเป็นกิจกรรมที่มีการบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลดังกล่าวเอาไว้กับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น
บัญชีหลักขององค์กร www.fpri.or.th บัญชีสนับสนุนการทำงาน บัญชีที่หน่วยงานต่าง ๆ สร้างขี้นมาเพื่อใช้ในการทำงานขององค์กร รวมถึง เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นลักษณะเดียวกัน ทั้งที่เป็นบล็อกหรือเว็บไซต์ที่เปิดให้โพสต์ ข้อความ, รูปภาพ, วีดิโอ หรือเนื้อหาอื่นใดได้
4. พฤติกรรมตามนโยบายนี้รวมถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงาน พนักงานทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือหากมีการตรวจสอบกรณีละเมิดนโยบายนี้เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึง การให้ความร่วมมือแก่องค์กรในการเข้าถึงข้อมูลและลบทำลาย ข้อความ, รูปภาพ, วีดิโอ หรือเนื้อหาอื่นใดที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นปัญหา
ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565
(ดร. จุฑาทอง จารุมิลินท)
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง